Dienstag, 4. September 2007

บทที่1: ธรรมราชาจากอเมริกา (A Dhammaraja from America)

"เหตุการณ์ที่ทำให้กษัตริย์ซาร์แห่งรัสเซียต้องสละราชบัลลังก์ก็เป็นเพราะตัวท่านเอง ท่านปฏิเสธไม่ยอมรับฟังหรือปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มหัวก้าวหน้าตามเวลาอันควร ซึ่งเป็นพวกที่มีปากเสียงโวยวายมากขึ้นทุกวัน ไม่มีใครต่อต้านพวกหัวก้าวหน้าได้ และก็น่าที่จะถามกันอีกว่า ทำไมถึงไม่ฟังเสียงของพวกจารีตนิยมด้วยเช่นกัน เพราะในเมื่อมันมีอยู่แล้ว คำตอบก็คือพวกจารีตนิยมนั้น ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ สาเหตุเพราะจารีตนิยมมีความเชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์ ส่วนพวกหัวก้าวหน้านั้นมีความสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ ดังนั้นจึงควรฟังเสียงของพวกหัวก้าวหน้ามากกว่าพวกจารีตนิยม ความคิดเห็นขัดแย้งกันของทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องธรรมดา แต่พวกจารีตนิยมเป็นพวกที่ติดยึดไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และการเหนี่ยวรั้งเป็นสิ่งที่คงอยู่ได้เพียงชั่วคราว ในท้ายที่สุดพวกหัวก้าวหน้าจะเป็นผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ "

จดหมายเหตุของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ถึงรัชกาลที่6 ในเดือน เมษายน พ.. 2460

ภูมิพลเกิดในวันที่ 5 เดือนธันวาคม พ.. 2470 วันที่อากาศหนาวเยือกเย็นจัดในเมือง Brookline ชานเมืองที่รุ่งเรื่องของเมือง Boston รัฐ Massachusetts แผ่นดินที่มีบรรยากาศห่างไกลจากราชบัลลังก์ทองในเมืองบางกอก ประเทศสยาม อันมีอากาศที่ร้อนอบอ้าว ซึ่งในขณะนั้นมีลุงเป็นกษัตริย์ชื่อว่า ประชาธิปก ผู้กำลังต่อสู้กระเสือกกระสนดิ้นรนต้านกับคลื่นการเมืองหัวสมัยใหม่ เพื่อรักษาไว้ในระบบราชาธิปไตยในแบบสมบูรณาญาสิทธิราช (absolute monarchy)

ประชาธิปก หรืออีกนัยหนึ่งคือกษัตริย์ราชวงศ์จักรี มีตำแหน่งเป็นรัชกาลที่ 7 เพิ่งได้เข้ามาเสวยราชบัลลังก์หลังจากที่กษัตริย์วัชิราวุธได้สร้างความล้มเหลวมานานถึงสิบห้าปี เงินกำปั่นคงคลังของรัฐบาลหมดเกลี้ยงไม่เหลือหลอ สร้างความขุ่นเคืองไม่พอใจต่อบรรดาราชวงศ์ที่มีอำนาจเอกสิทธิ์ผูกขาด แผ่ซ่านไปถึงบรรดาชนชั้นกลาง ประชาธิปกหวั่นวิตกกลัวการปฏิวัติที่ล้มล้างตัดทอนอำนาจของสถาบันกษัตริย์ อย่างที่เกิดขึ้นในยุโรป รัสเซีย และ ประเทศจีน

ในความนึกคิดส่วนหนึ่งของ ประชาธิปก พะวงถึงทารกที่เกิดขึ้นใหม่ในเมืองบอสตันที่อยู่ห่างไกล มีเพียงกษัตริย์และพราหมณ์ที่ปรึกษาเท่านั้น ที่จะเลือกชื่อให้กับบุตรหรือโอรสที่มีสายเลือดของกษัตริย์ได้ หลังจากหนึ่งสัปดาห์ผ่านไป จึงมีการประกาศทางโทรเลขว่า โอรสที่เกิดใหม่นั้นมีชื่อว่า ภูมิพล อดุลยเดช หรือมีความหมายว่า กำลังที่แข็งแกร่งของแผ่นดิน และด้วยอำนาจที่เปรียบไม่ได้ ภูมิพล จึงได้คงความเป็นกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียวที่เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา

บิดาของภูมิพลคือเจ้าฟ้ามหิดล อันเป็นน้องต่างมารดากับกษัตริย์ประชาธิปก เจ้าฟ้ามหิดลเกิดในปี พ.ศ. 2435 เป็นบุตรคนที่ 69 ของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์หรือ รัชกาลที่5 กับภรรยาคนที่สองในสามคนคือ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา จึงเป็นสายเลือดแท้ของราชวงศ์ที่มีสิทธิในการสืบสันตติวงศ์ แต่ในขณะนั้นอยู่แค่ในตำแหน่งที่หกของผู้มีสิทธิทั้งหมด ซึ่งทำให้ดูเหมือนกับตำแหน่งปลายแถว พออายุได้ 12 ปี เจ้าฟ้ามหิดลถูกส่งไปเข้าโรงเรียนแฮร์โรว์(Harrow) ในประเทศอังกฤษ และสองปีต่อมาก็ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนทหารที่ประเทศเยอรมันนี ในปี 2457 หรือ สี่ปีหลังจากที่กษัตริย์จุฬาลงกรณ์ได้ถึงแก่กรรม โดยครองราชย์มาได้ทั้งหมด 42 ปี เจ้าฟ้ามหิดลได้เดินทางกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อรับตำแหน่งที่สำคัญในกองทัพเรือของประเทศสยาม

ในปี พ.ศ.2460 ท่านตัดสินใจทำการศึกษาต่อทางด้านแพทย์ที่มหาวิทยาลัย Harvard University และที่นั้นท่านได้ตกหลุมรักกับ สังวาล นักเรียนพยาบาล อันเป็นคนธรรมดาสามัญลูกครึ่งจีน สังวาลเกิดจากครอบครัวที่ยากจนในปี พ.ศ.2443 ข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับราชวัง ต่อมาต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า พออายุได้เจ็ดขวบก็ถูกส่งเข้าไปเฝ้าอยู่ในวัง มารดาเจ้าฟ้ามหิดลและน้องสาว ต่างเห็นแววความฉลาดของเด็ก จึงช่วยอุปถัมภ์ส่งเรียนต่อที่ Boston’s Simmons College เมื่อเจ้าฟ้ามหิดลและสังวาลพบกัน จึงเป็นสิ่งทีหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับบุพเพสันนิวาส แต่การแต่งงานของคนสามัญชนกับเจ้าฟ้าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะในวังไม่สนับสนุนการแต่งงานอย่างเปิดเผยกับสามัญชน แต่สังวาลเป็นที่โปรดปรานของเจ้าจอมมารดา และเจ้าฟ้ามหิดลมีตำแหน่งเพียงปลายแถวในการสืบสันตติวงศ์ ดังนั้นจึงได้รับอนุมัติให้แต่งงานกันได้ หลังจากนั้นก็ได้ตำแหน่งเรียกว่าหม่อมสังวาล หลังจากที่แต่งงานกันในปี พ.ศ.2472 ทั้งคู่เดินทางกันอย่างกว้างขว้างในอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย เพื่อการศึกษา ความพึงพอใจส่วนตัว และบางครั้งก็เป็นราชภารกิจ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2466 ก็ได้ให้กำเนิดบุตรสาวคนแรกเกิดที่ประเทศอังกฤษ ชื่อว่า กัลยาณิวัฒนา

เหมือนเช่นกับพี่ๆน้องๆทุกๆคน เจ้าฟ้ามหิดลมักมีอาการป่วยเรื้อรังอยู่บ่อยๆ บางคนก็พูดถึงว่า อันเป็นสาเหตุมาจากการแต่งงานกับพี่น้องในสายเลือดเดียวกัน ดังเช่น กษัตริย์จุฬาลงกรณ์ที่มีภรรยาที่เป็นทางการทั้งหมดนั้น ก็เป็นนองสาวต่างมารดาในราชวงศ์ของตนเองทั้งสิ้น ทำให้มีทารกที่เกิดใหม่เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากเพราะสาเหตุเหล่านี้ ในปี พ.ศ. 2468 เจ้าฟ้ามหิดลได้ย้ายไปอยู่ที่เมือง Heidelberg, Germany เพื่อรับการรักษาสุขภาพ และในวันที่ 20 กันยายน อันตรงกับวันเกิดของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นวันศุภมงคล สังวาลก็คลอดบุตรชายคนแรกมีชื่อว่า อานันท มหิดล

สองเดือนต่อมา เหตุการณ์ลามปลายใหญ่โตมากขึ้น เมื่อกษัตริย์วัชิราวุธเสียชีวิตโดยไม่มีบุตรชายในการสืบสันติวงศ์ เพราะห้าปีที่ผ่านมา ลูกพี่ลูกน้องในราชวงศ์ของเจ้าฟ้ามหิดลได้ถึงแก่กรรมกันไป เพียงอายุสามสิบกว่าปีเท่านั้น อีกทั้งกษัตริย์คนใหม่ต่อมาคือประชาธิปกเองก็ไม่มีบุตรไว้สืบสันตติวงศ์ ทำให้เจ้าฟ้ามหิดลเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาอย่างฉับพลัน

ตำแหน่งกษัตริย์ดูเหมือนจะไม่มีความหมายนักสำหรับเจ้าฟ้ามหิดล เพราะท่านใช้เวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของสามสิบสามปีอยู่นอกประเทศสยาม ห่างไกลกับกิจวัตรและประเพณีภายในวัง จนมีคนกล่าวกันว่า ในทางส่วนตัวแล้วเจ้าฟ้ามหิดล อาจจะไม่เหมาะสมกับระบบกษัติรย์ตามอย่างวัฒนธรรมไทยนัก ท่านมีแนวความคิดนิยมโน้มเอียงไปในรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา และเชื่อกันว่าท่านอาจจะสละสิทธิให้กับลูกพี่ลูกน้องที่มีตำแหน่งถัดต่อไปคือ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ผู้ซึ่งมีอำนาจอยู่ในมือและเป็นคนมีระเบียบวินัย เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์เป็นบุตรของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ อันเกิดจากภรรยาคนที่สามชื่อ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี หลังจากการทำพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ประชาธิปกในปี พ.ศ. 2469 เจ้าฟ้ามหิดลเดินทางกลับไปศึกษาวิชาแพทย์ต่อที่มหาวิทยาลัย Harvard เพื่อที่จะได้รับประกาศการศึกษาขั้นสูง ท่านหวังที่จะนำเอาวิชาแพทย์สมัยใหม่มาใช้ในประเทศสยาม

เจ้าฟ้ามหิดลและสังวาลชื่นชมสหรัฐอเมริกายิ่งนัก มีบ้านส่วนตัวหลังใหญ่ในเมือง Brookline และรถยนต์ใช้ส่วนตัวแบบLimousine มีคนใช้บริการงานบ้านและดูแลลูกๆ สังวาลศึกษาการเลี้ยงเด็กแบบสมัยใหม่และจัดการงานในบ้าน ครอบครัวชอบขับรถชมวิวชนบทในเขต New England และได้รับการต้อนรับอย่างดีที่เกาะ Martha's Vineyard โดย นาย Francis Sayre ตำแหน่งผู้ที่ปรึกษาสำนักราชวัง และเป็นบุตรเขยของประธานาธิปดี Woodrow Wilson

ภูมิพลเป็นบุตรคนที่สามหรือบุตรคนสุดท้าย แม้นสังวาลจะเป็นคนสามัญแต่บุตรชายทั้งสองได้รับการแต่งตั้งเป็นถึงขั้นเจ้าฟ้า ในปลายปี พ.ศ. 2470 กษัตริย์ประชาธิปกได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ในอนาคตบรรดาบุตรในราชวงศ์ที่มียศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้า ไม่ว่าจะมาจากมารดาที่มีฐานะหรือตำแหน่งะอะไรก็ตาม ต่างก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระองค์เจ้า ย่อมมีโอกาสเปลี่ยนตำแหน่งเลื่อนให้เป็นผู้สืบสันตติวงศ์ขึ้นมาได้ ซึ่งอาจจะเป็นการนอกรีต แต่ก็เป็นหนทางเดียวที่จะรักษาเชื้อพระวงศ์ที่มีสายเลือดใกล้ชิดกันทั้งหลายให้อยู่รอดต่อไป พี่น้องของเจ้าฟ้ามหิดลทั้งหกคนต่างมีบุตรสืบสันตติวงศ์เพียงแค่สองคน และทั้งสองก็ไม่ใช่สายเลือดราชวงศ์จักรีอย่างโดยตรงคือ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถมีบุตรหนึ่งคน ชื่อว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือ พระองค์จุล ครึ่งไทยครึ่งรัสเซีย และเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ก็มีบุตรเพียงคนเดียว พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ซึ่งมีแม่เป็นคนรับใช้ในวัง เพื่อเป็นการสืบสายเลือดราชวงศ์จักรี กษัตริย์ประชาธิปกได้จัดตั้งสิบเอ็ดรายชื่อตำแหน่งพระองค์เจ้าขึ้นมา รวมทั้งบุตรทั้งสองของเจ้าฟ้ามหิดลได้อยู่ในรายชื่อนั้นด้วย

เจ้าฟ้ามหิดลทำตัวให้ห่างจากตำหนักในวัง ท่านไม่ประสงค์ที่จะให้ลูกๆเติบโตกลายเป็นเทียบเท่ากับพระเจ้าด้วยพิธีการต่างๆ เมื่อท่านล้มป่วยลงอย่างหนักในปี พ.ศ. 2471 ท่านได้อ้อนวอนนาย Sayre ว่าหากท่านเสียชีวิต ขอให้หลีกเลี่ยงบุตรทั้งสองจากอันดับในการสืบราชสันตติวงศ์

เจ้าฟ้ามหิดลมีชีวิตจนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Harvard และเดินทางกลับมาที่เมืองบางกอก ตามท้องถนนในเมืองบางกอกต่างพุดคุยกันถึงท่านในตำแหน่งผู้สืบราชสันตติวงศ์ ท่านได้รับการกล่าวขานว่าฉลาดแต่ไม่ต่อเนื่อง และไร้ความทะเยอทะยานทางด้านการเมือง เปรียบเทียบกับประชาธิปกผู้มีแต่ความลังเลใจ บางก็วิพากษ์วิจารณ์ไปถึงเถือกเถาเหล่ากอของภรรยาของท่าน ท่านมักจะมีอาการล้มป่วยอยู่เรื่อยๆจึงเป็นที่วิตกกังวลว่าจะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ในการเสี่ยง และภายในวังและวงการทูต ต่างเชื่อกันว่าท่านนิยมการปกครองแบบอเมริกา แม้นว่าท่านจะมีผู้สนับสนุนมากมาย แต่ก็มีความหวาดกลัวว่าตำแหน่งจะหลุดไปอยู่ในมือของเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ผู้ควบคุมกองกำลังทหารสยามประเทศ

เจ้าฟ้ามหิดลมีความหวังที่จะต้องการฝึกฝนตนเองเป็นแพทย์ แต่ระเบียบการของราชวังต่างขัดขวางต่อการปฏิบัติแทบทุกกรณี การพบผู้ป่วยต้องใช้ภาษาราชาศัพท์ ซึ่งชาวบ้านนอกวังต่างไม่เข้าใจ เพราะตำแหน่งกษัตริย์เปรียบเช่นกับเจ้าชีวิต เจ้าฟ้ามหิดลคงแตะต้องได้เพียงศีรษะของผู้ป่วยเท่านั้น เพื่อเป็นการฝึกฝนให้เข้าถึงทางด้านการแพทย์ เจ้าฟ้ามหิดลจึงเดินทางไปเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2472 ที่โรงพยาบาลที่ดำเนินการโดยชาวอเมริกัน หลังจากยี่สิบสี่วันท่านก็รู้สึกไม่สบาย ท่านเดินทางกลับไปยังบางกอก และพ่ายแพ้ต่อโรคภัยในที่สุด ในเดือนกันยายน ด้วยอายุเพียง 37 ปี

ในปี พ.ศ. 2467 กฏหมายเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ไม่แน่ชัดนักว่าจะให้ใครไปผู้สืบต่อ เช่นให้เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ อันเป็นบุตรของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ ที่หลงเหลืออยู่เพียงคนเดียว หรือเจ้าฟ้าอานันท มหิดล อันกลายเป็นเด็กกำพร้าพ่อ แม้นว่าจะไม่มีทางเลือกมากนักแต่ก็ไม่มีการตัดสินใจกันในทันใด แต่อานันท ซึ่งมีอายุได้เพียงสี่ปีก็ได้รับการเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างเช่นกษัตริย์คนต่อไป ทำให้ภูมิพลซึ่งอายุได้สองขวบได้ติดอันดับปลายแถวในการสืบสันตติวงศ์กับเขาด้วย ส่วนภรรยาหม้ายคือสังวาลได้รับการแต่งตั้งยศให้เป็น หม่อมสังวาล มหิดล ณ อยุธยา หรือคุณหญิงมหิดล ผู้สืบสายสกุลมาจากกรุงศรีอยุธยา เป็นการปกป้องตำแหน่งของเจ้าจอมมารดาราชินีสังวาล ผู้ซึ่งตั้งใจให้ตระกูลของตนเองคงติดอยู่กับราชวงศ์จักรีต่อไปชั่วกาลปวสาน

ครอบครัวมหิดลพักอาศัยกันอยู่ที่วังสระประทุม ที่เป็นวังไม้สักสร้างใหม่อยู่บนพื้นที่กว้างขว้างระหว่างคลองที่เกือบปลายสุดของใจกลางเมืองบางกอก ชีวิตในวังเต็มไปด้วย นางสนมกำนัล พยาบาล ครูบาอาจารย์ และคณะทูต ด้วยการรับอิทธิพลการเลี้ยงดุลูกจากวัฒนธรรมตะวันตกจากอเมริกา สังวาลทำตัวให้ใกล้ชิดกับการเลี้ยงดูลูกๆ ทั้งอานันท และภูมิพลถูกปล่อยให้วิ่งเล่นรอบๆสวนในวังได้ตามอำเภอใจ เล่นกับของเล่นต่างๆนานาจากยุโรปและอเมริกา มีทั้งสุนัข แมว และลิง เลี้ยงเล่นกันในบ้าน เมื่อถึงงานวันเกิดก็มีการจัดงานให้ยิ่งใหญ่สมเกรียติ์สำหรับเด็กๆและผู้ใหญ่ทั้งไทยและเทศ มีการเล่นเกมส์ ขี่ม้า แต่งตัวกันหลากสีสรร

ตระกูลมหิดลชื่นชมกับชีวิตที่อยู่ดีกินดีสดวกสบายทันสมัยอย่างตะวันตก กินอาหารอย่างตะวันตกราวกับว่าเป็นอาหารไทยแท้ๆเช่น ขนมเค้ก แซนดวิช นม เป็นแบบแผนอาหารประจำวันทั้งอาหารเช้า และอาหารกลางวัน แทนที่จะกินอาหารแบบไทยอย่าง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวเจ้า หรือกินกับข้าวอย่างไทยๆ เช่นเดียวกับการแต่งตัวอย่างตะวันตก จะแต่งตัวแบบไทยๆก็ต่อเมื่อต้องเข้าทำพิธีต่างๆตามวัฒนธรรม ครอบครัวชอบเดินทางไปตากอากาศตามชายทะเล เที่ยวสวนสัตว์ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลในทุกๆอย่างราวกับว่าเป็นกษัตริย์ในอนาคต ในช่วงฤดูร้อนพวกเขาต่างพากันหนีร้อนไปที่หัวหินถิ่นของเหล่าศักดินา มีการเรียนหนังสือกันเองภายในวังร่วมกันกับเด็กๆรุ่นเดียวกันทั้งชาวไทยและเทศ มีครูทั้งชาวไทย อังกฤษ และอเมริกัน สังวาลตั้งใจให้ลูกๆเรียนภาษาอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2473 อานันทได้เข้าลงทะเบียนที่โรงเรียนของผู้ดีชั้นสูงศาสนาคริสต์นิกายคาเธอรลิคชื่อ Mater Dei สองปีต่อมา ภูมิพลก็เข้าเรียนที่โรงเรียนเดียวกันนี้

การสังคมของอานันท เพื่อเตรียมตัวที่จะเป็นกษัตริย์ธรรมราชาได้รับการดูแลเป็นอย่างดี โดยมีภูมิพลอยู่เคียงข้างเสมอ มีการทำพิธีต่างๆทางศาสนา โดยสังวาลช่วยอบรมสั่งสอนเด็กทั้งสองให้เข้าถึงพุทธศาสนา ด้วยการพาเข้าวัด ฟังตำนานเรื่องราวต่างๆ พอถึงวันเกิดก็ทำบุญให้อาหารพระ ปล่อยนก ปล่อยปลา ในปี พ.. 2475 อานันทเริ่มศึกษาทางด้านศาสนากับพระสังฆราช และบทเรียนหนึ่งที่พี่สาวหรือกัลยาณิจำได้คือ การตบยุ่งนั้นเป็นบาป

อานันทมักจะลืมตนว่าเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ จนวันหนึ่งในปี 2474 เมื่อกลับจากโรงเรียนจึงเข้าไปถามแม่ว่า ทำไมใครๆต่างเรียกผมว่า องค์แปด เมื่อมารดาอธิบายว่า วันหนึ่งลูกจะได้เป็นกษัตริย์แห่งประเทศสยาม พี่สาวกัลยาณิจำได้ว่า อานันทมีอาการป่วยขึ้นมาทันที ความจริงอาการป่วยนี้เป็นกันมาทั้งผู้เป็นพ่อ และลุง อาการป่วยทำให้ขาดโรงเรียนบ่อยๆ แพทย์ส่วนตัวบอกว่าอาการมีเลือดบาง

ชีวิตที่สระประทุมเริ่มลำบากยากขึ้นในช่วงปี 2474-2475 สังวาลทนอาการร้อนในเมืองบางกอกไม่ได้ ปัญหาทางการเมืองร้อนแรงมากขึ้น อีกทั้งกระแสการเงินในอเมริกาเองก็ล้มลุกคลุกคลาน รัฐบาลเริ่มหมดเงินในการใช้จ่าย จึงเริ่มเก็บภาษีมากขึ้นจากชนชั้นกลาง กษัตริย์ประชาธิปกโอนไปเอนมากับปัญหาเศรษฐกิจในระดับโลก จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เกิดการกบฎจากกลุ่มข้าราชการและทหารกลุ่มน้อย เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นแบบประชาธิปไตย และทิ้งให้สถาบันกษัตริย์หมดอำนาจลงไป

ประชาธิปกยอมเป็นภาคีกับการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่บรรดาเจ้าฟ้าศักดินาทั้งหลายไม่ยอมจำนนด้วย จึงรวมตัวกันสร้างแผนเอาอำนาจแบบเดิมคืนมาอีก ในเดือนเมษายน 2475 ครอบครัวตระกูลมหิดลพากันเดินทางกลับไปอยู่ที่ ลูซาน Switzerland เพื่อความปลอดภัย และอาศัยอยู่ต่อมาจนถึงปี 2488 เป็นเวลานานกว่าสิบปีหลังจากที่กษัตริย์ประชาธิปกได้สละราชสมบัติให้กับอานันท และแต่งตั้งให้ภูมิพลเป็นผู้สืบสันตติวงศ์อันดับแรก

การกบฎในปี 2475 ไม่ใช้แต่เพียงเป็นผลมาจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และการบริหารประเทศที่เห็นแก่ได้ของราชวงศ์ ประชาธิปกเข้ารับตำแหน่งเป็นกษัตริย์ในขณะที่เหตุการณ์ที่พวกหัวก้าวหน้า ท้าทายกับพวกจารีตนิยม เนื่องจากกษัตริย์องค์ก่อนคือวชิราวุธหรือ รัชกาลที่ 6 ได้มีแนวทางที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศ ให้กลายเป็นแบบจักรวรรดินิยมอย่างในยุโรปและที่ญี่ปุ่น แต่การจัดการบริหารของรัชกาลที่ 6 นั้นล้มเหลวไม่เอาถ่าน พร้อมกับมีการต้านทานจากบรรดาราชวงศ์ด้วย พวกเขาเชื่อว่าการเกาะติดอยู่กับรากฐานประเพณีทางพุทธศาสนาของสยามประเทศ คือความอยู่รอด ด้วยสิ่งเหล่านี้ ประชาธิปกจึงสร้างสถาบันกษัตริย์ให้เป็นจุดศูนย์กลางในการบริหารประเทศ ในปี 2475 ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในระดับโลก เข้ามาเขย่าสถาบันกษัตริย์ราชวงศ์จักรีให้ชนปะทะกันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ จนต้องพ่ายแพ้ไป

แต่รากฐานประเพณีเก่าแก่ยากต่อการเปลี่ยนแปลงให้สูญหายไปได้ เช่น เจ้าฟ้า ชาวนาในชนบท ต่างก็มีความเชื่อถือแบบโบราณว่าอำนาจของจักรวาล จะทำให้เกิดความสมดุลย์ด้วยการมีกษัตริย์ที่มีไหวพริบ และมีความเที่ยงธรรม หรือเป็นคล้ายกับพระพุทธเจ้าหลวง นี่คือความเชื่อ กุศโลบาย อันเป็นพื้นฐานที่กษัตริย์อย่างภูมิพลใช้ในการสถาปณาราชวงศ์ของตนให้คงอยุ่ต่อไปในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

รูปแบบของระบบที่เก่าและศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นภาระหนักที่กษัตริย์ประชาธิปกแบกเอาไว้ในปี 2475 อันมีรากฐานมาจากประเพณีที่สืบต่อกันมาจากลัทธิฮินดูของชาวอินเดียที่มีพราหมณ์ และศาสนาพุทธ ที่กระจ่ายเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในราวศตวรรษที่สาม ทั้งสองต่างมีรากฐานของนักรบกึ่งเทพเจ้าที่เรียกกันว่ากษัตริย์ อันมีความสามารถทางด้านการรบ และมีความเที่ยงธรรม อย่างไรก็ตามประเพณีทั้งสองไม่เคยแยกออกจากกันได้ในประเทศไทย คุณลักษณะที่เด่นนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันใช้ในการสถาปนาราชวงศ์ของตนเอง

ประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท หรือ หินยาน (Theravada Buddhist) ซึ่งได้รับการรับรองและสนับสนุนอย่างสูงส่งจากรัฐบาล เริ่มตั้งแต่สมัยศตวรรษที่สิบสองในอาณาจักรสุโขทัย อันเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาในการปกครองประเทศโดยมี กษัตริย์ที่เป็นธรรมราชา กษัตริย์ในทางศาสนาพุทธที่มีความสามารถอย่างนักรบ แต่เพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์ กษัตริย์จะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลในธรรม นั้นคือธรรมปกครองโลกไม่ใช่มนุษย์ มนุษย์เป็นเพียงผู้ปฏิบัติไปตามกฎแห่งกรรม ดังที่พระพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ให้หมุนวงล้อแห่งธรรม

เพราะว่า ธรรมะคือหนทางสู่สัจธรรม การแสวงหาสัจธรรมต้องมีความบริสุทธิ์ใจ การปฏิบัติตัวให้เข้าถึงสัจธรรมต้องทำตัวให้บริสุทธิ์อย่างเช่นพระพุทธเจ้า การปฏิบัติทำตนให้บริสุทธิ์นั้นทำได้ด้วยการละทิ้งกิเลส และสร้างบุญหรือเป็นผู้ให้ หมั่นทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ วิธีปฏิบัตินั้นทำได้จากหลักการธรรมศาสนา หรือ การปฏิบัติตามหลักศีลธรรม

การบรรลุโสดาบันคือการปฏิบัติเข้าถึงหลักของธรรม และในการปฏิบัติตามประเพณีคือการสร้างกรรม หากสร้างกรรมดีก็เป็นผลดีเข้าถึงหลักธรรม หนทางในการปฏิบัติคือการถือศีล เช่น การถือศีลห้า หรือ เบญจศีล เป็นศีลในลำดับเบื้องต้นของพุทธศาสนา ที่ใช้สำหรับฆราวาส หรือ ศาสนิกชนพึงถือ ไม่เฉพาะแต่เหล่าสงฆ์เท่านั้น และศีลแปดสำหรับสามเณรหรืออุบาสกอบาสิกาที่เข้าวัดเข้าวาเพื่อรับธรรมเป็นประจำ แต่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ ที่เคร่งครัดแล้วก็จะถือ 227 ศีล อันดับในการจัดชั้นวรรณะในคณะสงฆ์ก็ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดถึงระดับโสดาบันสักแค่ไหน ผู้ที่ปฏิบัติถือศีลอย่างเคร่งครัดย่อมมีความเหมาะสมในการแนะนำผู้อื่น หน้าที่สำคัญคือการเผยแพร่ธรรมะด้วยการเทศน์และการประพฤติปฎิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี และด้วยการปฏิบัติตนเช่นนี้ ทำให้ผู้นั้นสร้างบุญกุศลและเข้าถึงสัจธรรมได้มากขึ้นเท่านั้น

ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทในประเทศสยามคือ การทำบุญสร้างคุณธรรมและความดี เป็นการส่งผลบุญให้มีชีวิตที่ดีในชาติหน้า การมีชีวิตที่ดีในชาตินี้ เป็นผลกรรมที่ทำความดีจากชาติก่อน สำหรับกษัตริย์ธรรมราชานั้นคือการพิสูจน์ให้เห็นถึงผลบุญที่สะสมมาจากชาติก่อน ตราบใดที่กษัตริย์มีความประพฤติปฏิบัติอยู่ในธรรมศาสตร์ เขาผู้นั้นปกครองอย่างเป็นธรรมชาติบนพื้นฐานแห่งความรู้จริงในสัจธรรม เขาผู้นั้นจึงเหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์

ผู้ที่มีตำแหน่งใกล้เคียงกับกษัตริย์ในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท คือพระสัฆราชหรือพระสงฆ์อาวุโสและพระที่ทำธุดงค์เข้าญาณวิปัสสนา โดยทั่วไปเปรียบเทียบเท่ากับพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้า ผู้มีเคร่งครัดปฏิบัติ ปกป้องในศีลธรรม ใครมีอาวุโสมากกว่าใครนั้นระหว่าง พระสงฆ์ที่มีความเคร่งครัดในหลักศีลธรรมทุกๆวัน หรือกษัตริย์ธรรมราชาปฏิบัติเพียงศีลห้าข้อและเคร่งครัดหน่อยในวันพระเท่านั้น โดยหลักการแล้วก็เหมือนว่าพระสงฆ์มีอาวุโสมากกว่า แต่ในทางกลับกันแล้ว เป็นหน้าที่ของกษัตริย์ที่จะทำการปกป้องคุ้มครองสถาบันสงฆ์

การที่จะเป็นกษัตริย์ให้มีคุณสมับติทางพุทธศาสนาให้สมกับเป็นธรรมราชาได้นั้น จะต้องปฏิบัติตามกฎทศพิธราชธรรม เพราะว่ากษัตริย์มีภาระหน้าที่ที่จะต้องกระทำ จะให้อยู่สมถะแบบพระสงฆ์องค์เจ้าไม่ได้ ทศพิธราชธรรมคือบัญญัติสิบประการสำหรับกษัตริย์ อันเป็นจริยวัตร10 ประการ ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าราชธรรม10 อันประกอบด้วย ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน ความยุติธรรม ทศพิธราชธรรมหรือราชธรรมสิบนี้ เปรียบคล้ายกับบารมี10 หรือ ทศบารี ที่พระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติตนได้อย่างสมบูรณ์ก่อนที่จะบรรลุโสดาบัน ส่วนบารมีคือการมีความสมบูรณ์ทางจิตใจ มีความหมายใช้กันทั้งทางด้านศาสนาพุทธและฮินดู ในปัจจุบันนำมาใช้อ้างอิงกับสถาบันกษัตริย์ให้มีคำแปลอย่างน่าสรรเสริญว่า พระราชบารมี อันเป็นการแสดงถึงความสูงศักดิ์ของกษัตริย์ที่เทียบเท่าพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่มีใครสามารถขัดแย้งในอำนาจหน้าที่ที่ศักดิสิทธิ์ของกษัตริย์ได้เหนือกว่าพระสงฆ์ ทศพิธราชธรรมทั้ง10 หรือราชาธรรม10 คือคุณธรรมของกษัตริย์ อันเป็นหลักเกณฑ์ที่แยกกษัตริย์ออกจากพระสงฆ์

การสร้างสถาปนาความเป็นกษัตริย์นั้น ยังต้องอาศัยการสืบต่อราชวงศ์ด้วยสายโลหิตที่แท้ด้วย ประชาชนจะต้องเชื่อถือกับเรื่องราวที่กษัตริย์มีความสามารถนานาประการ และเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ ดุจดังเทพเจ้าที่สืบสายโลหิตเดียวกันมาสู่ลูกหลานเหลน ในทางศาสนาพุทธ การเรียนรู้และเข้าถึงพระธรรมคือการปฏิบัติในศีล ไม่ใช่การสืบต่อความรู้ด้วยทางสายเลือดเดียวกัน ดังนั้นบุคคลที่แม้นจะเป็นชนชั้นต่ำก็สามารถบรรลุถึงพระธรรม และกลายเป็นผู้คงแก่เรียนหรือเป็นกษัตริย์ได้ด้วยการเรียนรู้ และการปฏิบัติเคร่งในศีล สำหรับธรรมราชาที่สร้างสมคุณงามความดีก็ไม่จำเป็นที่จะต้องตกหล่นไปถึงลูกหลานได้ เพราะคุณงามความดีนั้น คงสืบทอดต่อกันไม่ได้จากผู้บังเกิดเกล้า

ในทางความเชื่อโดยทั่วไป ศิษย์ของอาจารย์ย่อมได้รับความบริสุทธิ์จากการสอนธรรม และด้วยความใกล้ชิดในการเสี่ยมสอน อาจารย์ที่เก่งถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์และสร้างชื่อเสียงและบารมีให้กับตนเอง เช่นเดียวกับบุตรของกษัตริย์ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้เป็นปราชญ์ต่อเนื่องกันไป การถ่ายทอดต่อเนื่องกันนี้เป็นการถ่ายทอดที่เรียนรู้และปฏิบัติ หาใช่การถ่ายทอดกันทางสายโลหิตหรือทาง DNA แต่การถ่ายทอดในสายโลหิตเดียวกันทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้ บุตรหลานของกษัตริย์มีโอกาสเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ และด้วยประการฉะนี้จึงทำให้เกิดการสร้างสถาบันหรือการสร้างราชวงศ์ที่มั่นคงได้อย่างน่าเชื่อถือ

ในทางวัฒนธรรมของพราหมณ์ฮินดู พระพุทธเจ้าคือพราหมณ์ที่กลับชาติมาเกิดเป็นครั้งที่เก้า แต่กษัตริย์ในทางฮินดูมีรากฐานในอาณาจักรขอมโบราณนั้น มีการพัฒนาอย่างตรงไปตรงมาและมีโครงสร้างการปกครองที่แน่นอนมาจากเทวราช ซึ่งในทางพุทธศาสนาไม่มีเทวดาที่แท้จริง มีแต่ธรรมะเท่านั้นคือความจริง และการเรียนรู้ถึงธรรมะคือความสูงสุดของการมีชีวิตอยู่ ความคิดของฮินดูคือการมีชีวิตอยู่อย่างแข็งแรง การมีตัวตนเป็นอัตตา หรือ อาตมัน และในตัวตนนั้นคือการค้นพบความจริงของร่างและวัตถุประสงค์ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน การเข้าใจในตัวตนคือการเข้าถึงทุกสิ่งทุกอย่างหรือนิพพานของฮินดู

ในทางศาสนาฮินดูนั้น มนุษย์ต่างเวียนว่ายตายเกิดในหลายชั้นวรรณะ ซึ่งเป็นสังสารวัฏให้เข้าใจในตัวตนยิ่งขึ้น การเกิดในวรรณะที่สูงเป็นการสืบทอดสายโลหิตที่ยิ่งใหญ่ ความเชื่อในเทวดาของชาวฮินดูจึงสืบต่อไปสู่ลูกหลานที่เกิดขึ้นมา นี่คือความเชื่อที่ว่าเทวดากลับชาติมาเกิดเพื่อสืบทอดสายโลหิตกันต่อไป

พูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว กษัตริย์ในความเชื่อถือของศาสนาฮินดู จะมีความแข็งแกร่งน่าเลื่อมใสกว่าในทางศาสนาพุทธ ซึ่งมีความหมายเพียงแต่เป็นผู้นำที่หมุนวงล้อแห่งธรรมะให้แก่ประชาชน แต่เทวดาในศาสนาฮินดูคือผู้ก่อสร้างสถาปนากฎเกณฑ์และความเป็นอยู่ของสังคม เทวดาคือผู้ปกป้องทุกสิ่งทุกอย่างครอบจักรวาล อย่างเช่นพระศิวะ ที่ควบคุมดินฟ้าอากาศ นำฝนโปรยปรายในยามแล้ง ทำให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์ และทำให้หญิงตั้งครรภ์ อย่างที่นาย John Girling นักสังคมศาสตร์ได้เขียนเอาไว้ว่า พิธีการในการปกครองคือการทำพิธีกรรมต่างๆในโลกด้วยอำนาจจากจักรวาล คือการสร้างอาณาจักรให้เป็นเมืองของเล่นขนาดเล็ก และสร้างวังให้เป็นดังเขาเมรุที่ศักดิ์สิทธิ์ เมืองของเทวดา โดยให้บรรดารัฐมนตรีทั้งสี่ประดับมุมทั้งสี่มุมของจักรวาล ทำเมืองหลวงให้ดุจดังเป็นจุดศูนย์กลางของประเทศ มันยิ่งใหญ่กว่าสังคมการเมืองและจุดรวมของวัฒนธรรม แต่เป็นจุดอันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทั้งหมด"

กษัตริย์ในทางศาสนาฮินดู มีพราหมณ์ซึ่งถือว่าเป็นชนวรรณะสูงเป็นฐานประกอบอำนาจ พราหมณ์สักการะบูชาเทวราช ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการปกครอง ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ที่ปรีกษาทางการกระทำพิธีการต่างๆเพื่อให้กษัตริย์ดูยิ่งใหญ่น่าเลื่อมใสอย่างพระเจ้า กษัตริย์เขมรใช้หินสลักเป็นรูปศิวลึงค์มาประดับเพื่อแสดงถึงเทพเจ้า ซึ่งแสดงให้เห็นสัญญลักษณ์พระศิวะและกษัตริย์บนโลก หินสลักรูปศิวลึงค์มีตั้งไว้ตามถนนในทุกมุมเมือง ในวัด และบนยอดเขา

ประเพณีทั้งสองถูกนำมาใช้ในการประกอบพิธีต่างๆปะปนกันไปกับศาสนาพุทธนิกายมหายานที่เชื่อในอาณาจักรขอม และชาวไท มอญ ที่เข้ามาในประเทศสยามในศัตวรรษที่สิบสาม หลังจากอาณาจักรขอมเสื่อมลง ซึ่งรวมทั้งอาณาจักรสุโขทัยทางภาคกลางด้านบน ในการสถาปนาราชวงศ์จักรี ได้มีการสืบรากบรรพบุรุษกันไปถึง กษัตริย์คนที่สามของสุโขทัยคือ รามคำแหง อันเป็นชื่อที่มาจากตำนานรามเกียรติ์ ปกครองในระหว่างปี 1820 ถึง ปี 1860 กษัตริย์รามคำแหงคือนักรบที่สร้างพื้นที่เล็กๆให้กลายเป็นเมืองใหญ่ที่มั่งคั่ง อาณาจักรสุโขทัยสร้างขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อทางฮินดู และศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่ในช่วงต้นๆของสุโขทัย กษัตริย์องค์ก่อนๆได้รับเอาอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายเถรยานมาใช้ โดยพระสงฆ์จากศรีลังกาได้นำเอาเข้ามาเผยแพร่ อันเป็นการเริ่มต้นพื้นฐานของวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน

กษัตริย์รามคำแหงใช้การปกครองแบบการเกลี้ยกล่อม โดยใช้ศาสนาพุทธเอามาเป็นวัฒนธรรมในการปกครองประเทศให้เป็นปึกแผ่น ท่านสร้างวัดวาให้กับคณะสงฆ์ และท่านเป็นผู้นำพิธีการทำบุญให้ทานเช่นงานกฐิน งานพิธีที่ชาวบ้านเอาของไปถวายวัดหลังจากที่หมดพรรษา จากหลักฐานอ้างอิงของหลักศิลาจารึกได้บันทึกเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

"เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใคร่จักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ ล้มตายหายกว่าเหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อคำมัน ช้างขอลูกเมียเยียข้าว ไพร่ฟ้าข้าไท ป่าหมากพลูพ่อเชื้อมัน ไว้แก่ลูกมันสิ้น ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุน ผิแลผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้ จึ่งแล่งความแก่ขาด้วยซื้อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใครพีน เห็นสินท่านบ่ใครเดือด คนใดขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ช่อยเหนือเฟื้อกู้ มันบ่มีช้างบ่มีม้า บ่มีปั่วบ่มีนาง บ่มีเงือนบ่มีทอง ให้แก่มัน ช่อยมันตวงเป็นบ้านเป็นเมือง ได้ข้าเสือก ข้าเสือ หัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจมันจะกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่อันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมือถาม สวนความแก่มันโดยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม"

ในความหมายปัจจุบัน เป็นการปกครองที่เรียกว่าบิดาธิปไตยหรือการปกครองอย่างบิดาปกครองบุตร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาของชาวไท กษัตริย์ถือได้ว่าเป็นทั้งพ่อและตุลาการและเป็นแหล่งของวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของประเทศด้วย สำนักราชวังของกษัตริย์ภูมิพลจึงเรียกพ่อขุนรามคำแหงว่าเป็นกษัตริย์ที่ปกครองแบบประชาธิปไตยคนแรก และได้นำไปใช้เป็นวัฒนธรรมการปกครองประเทศไทยต่อเนื่องกันมาตลอดราชวงศ์จักรี

แม้นกระนั้น การรับเอาศาสนาพุทธนิกายหินยานหรือเถรวาท(Theravadism)มาใช้ ทำให้ราชบัลลังก์สุโขทัยอ่อนแอลง เพราะไม่เน้นไปในหลักการทางศาสนาฮินดูให้ตัวกษัตริย์มีความเทียบเท่ากับเป็นเทพเจ้า ราชวงศ์สุโขทัยใช้หลักการตามศาสนาพุทธคือใช้ธรรมราชาเป็นหลักการสถาปนาราชวงศ์ ซึ่งมีความหมายบันทึกไว้ในไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเชื่อกันว่าเขียนไว้โดยกษัตริย์ลิไทย(พระมหาธรรมราชาที่ 1) ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากพ่อขุนรามคำแหง ได้แต่งไตรภูมิพระร่วงขึ้น มีสาระสำคัญ คือ เขียนพรรณาถึงเรื่องการเกิด การตาย ของสัตว์ทั้งหลายว่า การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิทั้งสาม(กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ) ด้วยอำนาจของบุญและบาปที่ตนได้กระทำแล้ว ที่สำคัญคือเป็นเรื่องราวตัวอย่างของพระร่วงอันเป็นรากฐานสำคัญของการสืบต่อความเป็นกษัตริย์

ไตรภูมิพระร่วงไม่ใช้เรื่องราวใหม่ในทางพุทธศาสนา หากเป็นเรื่องราวที่นำเอาความคิดในตำนานทางพุทธศาสนาและทางฮินดูมาเปรียบเปรยให้ชาวบ้านเข้าใจกัน เป็นเรื่องราวให้ผู้อ่านผู้ฟังยำเกรงในการกระทำบาปทุจริต และเกิดความปิติยินดีในการทำบุญทำกุศล อาจหาญมุ่งมั่นในการกระทำคุณงามความดีในโลกนี้ และกฎในการสร้างคุณงามความดีของกษัตริย์ก็คือทศพิธราชธรรม10 อย่างที่กษัตริย์ลิไทยได้เขียนอ้างไว้ว่าเป็นดินแดนที่พระพุทธเจ้าได้เลือกเอาไว้ หรือพระพุทธเจ้าคือกษัตริย์คนแรก ดังนั้นกษัตริย์ที่สืบทอดราชวงศ์ต่อๆมาคือสายเลือดของพระพุทธเจ้าหรือสายเลือดทางวิญญาณ ที่สืบทอดกันมาด้วยผลแห่งการสร้างบุญ ในกรณีที่ปราศจากตัวของพระพุทธเจ้า ก็ขอให้เป็นดังที่เคยมีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่คือจักรวาที(Cakkavati King)ที่คอยหมุนวงล้อแห่งธรรมะ(ธรรมจักร) ในไตรภูมิพระร่วงได้กล่าวไว้ว่า รู้จักบุญกุศลและธรรม และสอนคนอื่นให้รู้ถึงธรรมะ อย่างที่พระพุทธเจ้าได้เกิดมาเพื่อสอนธรรมะ..........จะไม่มียักษ์ มาร สัตว์ร้าย เข้ามาสิ่งสู่แด่ผู้หมุนกงล้อธรรมจักร เพราะว่าตัวมารกลัวอำนาจและความดีของธรรมจักร

นี่เป็นหลักการที่ใช้ได้ผลในการปกครองโดยระบบกษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุดของแผ่นดิน โดยการให้ความเทียบเท่าระหว่างการเป็นกษัตริย์และพระพุทธเจ้า หรือเกือบเท่ากับเทวดา หนังสือไตรภูมิพระร่วงให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์อยู่เหนือแผ่นดิน โดยการเอาความรู้คิดเรื่องผลบุญผลกรรมมาเปรียบเทียบ และวางรากฐานอันดับของชนชั้น คือชนชั้นสูงย่อมมีบุญมากกว่าชนชั้นต่ำเป็นต้น ไตรภูมิพระร่วงบ่งบอกถึงการสร้างบุญกุศลจากชาติก่อน อันนำเป็นผลของชีวิตที่ดีในชาติหน้า(เป็นไปได้ว่า โดยการนำเอาผลบุญมาแอบอ้าง ทำให้ผุ้ปกครองมีโอกาสได้รับผลประโยชน์ต่างๆนานาง่ายขึ้น เช่น อาหาร ชาวบ้านถูกหลอกให้นำเอาข้าวสารและนำอาหารไปถวายทำบุญให้แก่วัดวาอาราม รวมทั้งเงินทองบริจาคให้แก่กษัตริย์ธรรมราชา)

ผู้ปกครองอาณาจักรสุโขทัยไม่ได้ละทิ้งประเพณีและความเชื่อในเทวดาตามศาสนาฮินดูไปเสียหมด แต่ยังทำการปฎิบัติตามประเพณีให้ดูเปล่งปลั้งยิ่งขึ้นแด่กษัตริย์ อันเป็นผลให้บรรดาราชนิกูลมีความน่าเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปอีก ถึงแม้นว่าท้ายที่สุดสุโขทัยจะเสื่อมลงและอยุธยาขึ้นมาแทนที เป็นเวลากว่าสี่ร้อยปีที่อยุธยาเติบโตแข็งแกร่งเบ่งบาน จนเป็นรูปฐานทางภูมิศาสตร์การเมืองให้แก่ประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเหมือนเส้นทางเชื่อมต่อของศาสนา วัฒนธรรม ต่างๆนานา ในสมัยอยุธยาทั้งศาสนาพุทธและประเพณีทางฮินดูได้มีส่วนร่วม ในการเสริมสร้างอำนาจให้แก่สถาบันกษัตริย์ แต่ก็ยังน้อยกว่าสมัยสุโขทัย

ในสมัยพระเจ้าอู่ทองกษัตริย์คนแรกของอยุธยา ได้เชิญพราหมณ์มาจากประเทศอินเดียหลายคนในการทำพิธีราชาภิเษกในปี พ.ศ.1894 ซึ่งเป็นการเปรียบตัวเองเช่นเดียวกับเทวดา และได้ตั้งชื่อตนเองว่า รามาธิบดี อันเป็นชื่อที่นำเอามาจากชื่อของพระรามในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ กษัตริย์อู่ทองยังปฏิบัติตนเจริญรอยตามตำแหน่งธรรมราชา อย่างเช่นกษัตริย์ลิไทยในสมัยสุโขทัย กษัตริย์อู่ทองได้ทำการอุปถัมภ์บรรดาสงฆ์ สร้างวัดวาอารามขึ้นใหม่มากมาย และยังนำเอาพิธีการทางศาสนาพุทธมาปฏิบัติด้วย

ในกลางศตวรรษที่สิบห้าคือสมัยพระบรมไตรโลกนาถ บรรดานักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเป็นช่วงที่อยุธยาเจริญถึงที่สุด เป็นจุดศูนย์กลางทีมีการจัดอันดับทางสังคม ซึ่งเป็นไปในทางฮินดูมากกว่าศาสนาพุทธ เช่นเดียวกับกษัตริย์ลิไทย ไตรโลกนาถก็แสดงตัวให้เป็นเช่นพระพุทธเจ้าเช่นกัน โดยการจัดการเรียบเรียงหนังสือมหาชาติคำหลวงขึ้นใหม่ อันเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในชาติก่อนที่เป็นพระโพธิสัตย์ ก่อนที่จะทำการตรัสรู้ได้ เนื้อหาในการปรับปรุงใหม่ เน้นไปที่เนื้อหาของไตรภูมิพระร่วงว่า พระเวสสันดร(Vessantara) ได้กลับชาติมาเกิดเป็นพระบรมไตรโลกนาถคือตัวกษัตริย์ไตรโลกนาถนั้นเอง แต่กษัตริย์ไตรโลกนาถก็ไม่ได้เอาศาสนาพุทธมาเป็นรากฐานของความเป็นกษัตริย์ นักประวัติศาสตร์หลายคนคิดว่า ในราวต้นปี 2143 กษัตริย์ปราสาททองได้นำเอาความเชื่อทางฮินดูมาใช้ในการสถาปนาตนเองให้สูงส่งยิ่งขึ้น โดยไม่ได้ตัดเอาความเชื่อครอบจักรวาลทางพุทธศาสนาออกไป

จากหลักฐานที่บันทึกในประวัติศาสตร์ได้เน้นให้เห็นว่า ทั้งประเพณีทางศาสนาฮินดู และพุทธได้ใช้ผสมปะปนกันให้เป็นฐานอำนาจสนับสนุนสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่องกันมา ทำให้กษัตริย์มีอำนาจบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ ความสมดุลย์ระหว่างสองศาสนานั้นก็ขึ้นอยู่กับความคิดดัดแปลงสร้างสรรของตัวกษัตริย์เอง ความเชื่อในศาสนาพุทธเกี่ยวกับดวงดาวครอบจักรวาลต่างๆอันเป็นผลทางโชคชะตาราศี เป็นรากฐานของกษัตริย์ธรรมราชาที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามกฎทศพิธราชธรรม กษัตริย์ต้องทำบุญทำทานถวายพระสงฆ์องค์เจ้า ทำพิธีกฐิน เช่นเดียวกับกษัตริย์ไตรโลกนาถที่ลาออกบวชในระยะสั้น และโดยทั่วไปแล้วในราชอาณาจักรนี้มีความเชื่อกันว่า การทำพิธีปฏิบัติตามศาสนาพุทธเป็นการแสดงความซื่อสัตย์ต่อสถาบันกษัตริย์ และสร้างผลผลิตของชาวไร่ชาวนาให้มากขี้น

พิธีการต่างๆบนพื้นฐานทางศาสนาฮินดู ได้รวมเอาเทวดาเข้าไปเป็นการเสริมภาพพจน์ของกษัตริย์ ทำให้สถาบันกษัตร์ย์ดูน่ากลัวและน่าเกรงขามยิ่งขึ้น ต่างประดิษฐ์ประดอยยกยอตำแหน่งให้กษัตริย์เป็นเจ้าแผ่นดิน และ เจ้าชีวิต ผู้เป็นเจ้าของมวลสรรพสิ่งทั้งหลายดังเทพเจ้าที่ประทานชีวิต สภาพลมฟ้าอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ และความมั่งคั่ง ข้อห้ามตามความเชื่อของพราหมณ์ได้ถูกนำมาบังคับใช้เช่น ห้ามมองดูหน้าของบรรดาราชนิกูล หากขัดขืนอาจมีโทษถึงตายได้ ภาษาที่ใช้กันในวังและการทำพิธีต่างๆก็เป็นภาษาของพราหมณ์ ที่ปะปนกันระหว่างสันสกฤตกับภาษาขอม เพื่อนำมาใช้เตือนกันถึงสายโลหิตที่มีความสูงศักดิ์ ในฐานันดรของราชนิกูล อันมีความสำคัญยิ่งในการปกครองโดยระบบราชวงศ์ตลอดชั่วกัลปาวสาร

การผสมปะปนกันในพิธีการต่างๆของสองศาสนาเป็นการสืบสายพันธุ์ของกษัตริย์ นาย David Wyatt นักประวัติศาสตร์ได้อธิบายไว้ว่าหลักการสั่งสอนของศาสนาพุทธเป็นปัจจัยสำคัญต่อดวงชะตาราศีในทางพราหมณ์ มุ่งหมายให้กษัตริย์มีความประพฤติอยู่ในศีลธรรมจนถึงที่สุดคือให้กลมกลืนกันกับคำสอนธรรมจรรยาในพุทธศาสนา ความเชื่อของพราหมณ์ฮินดูในเรื่องเทวดานั้น เปรียบเทียบให้กษัตริย์เป็นพระเจ้า เป็นการปรับปรุงเสริมแต่งให้กษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของพิธีการต่างๆ ขณะที่ความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาพุทธให้การรับรองว่ากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของผู้ประพฤติตามหลักทางศีลธรรม"

ยิ่งกว่านั้น กุญแจแห่งอำนาจในสมัยอยุธยาคือการควบคุมความมั่งคั่งของแผ่นดิน เพราะอยุธยาตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางเป็นดังเกาะใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ความสำเร็จของอยุธยาคือเป็นแหล่งโกดังซื้อขายที่สำคัญทางน้ำในเขตเอเชียตะวันออก นำเอาพ่อค้าจากเมืองจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เปอร์เซีย และจากพวกยุโรปในศตวรรษที่สิบหก เมืองอยุธยามีความสำเร็จทางการค้าอย่างมาก ทำให้บรรดากษัตริย์ต่างดิ้นรนในการเข้าควบคุมการค้าแบบจำกัดและผูกขาดของตนเอง เพื่อควบคุมพื้นที่ดินและคนทำงาน ครอบครัวหลายครอบครัว รวมทั้งชาวต่างชาติสร้างความมั่นคั่งโดยการทำการสนิทสนมกับเหล่าราชนิกูลและขุนนาง ซึ่งกลายเป็นคู่แข่งกับสถาบันในการคุมความมั่งคั่งและอำนาจ

เรื่องราวในวังสมัยอยุธยาเป็นเรื่องที่โกลาหลและเต็มไปด้วยเลือด ในการช่วงชิงราชบัลลังก์ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวการลอบปลงพระชนม์ เป็นสิ่งที่เขย่าขวัญเกิดขึ้นบ่อยๆจนเป็นธรรมดา ระหว่างกษัตริย์กับเจ้าฟ้าและราชินี หรือการลอบฆ่าเจ้าฟ้าโดยกษัตริย์กับราชินี หรือการฆ่ากันระหว่างเจ้าฟ้ากับเจ้าฟ้าด้วยกันเอง เป็นต้น เป็นเวลาเกินกว่าสี่ศตวรรษ อยุธยามีกษัตริย์ทั้งหมด 35 องค์ โดยเฉลี่ย 11 ปีต่อหนึ่งสมัย ในทางตรงกันข้าม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2310 หากกรุงเทพมีผู้ปกครองราวสิบคน เฉลี่ย 24 ปีต่อหนึ่งสมัย

การต่อสู้ชิงอำนาจกันในอยุธยา น้อยนักที่เป็นการต่อสู้เพื่อสืบต่อสายโลหิตของราชวงศ์ แต่มีหลายครั้งที่มีการกบฏจากฝีมือคนภายนอก เพื่อให้ได้ตำแหน่งของกษัตริย์มาครองอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ จึงมีการจับแต่งงานระหว่างภรรยา น้องสาว ลูกสาว ของกษัตริย์องค์ก่อน ดังนั้นความชัดแจ้งของการสืบสันตติวงศ์จึงไม่มีปรากฎออกมาได้อย่างแน่ชัด

ท้ายที่สุด อาณาจักรอยุธยาอ่อนแอลงไปเพราะการแก่งแย่งเพื่อให้ได้มาในอำนาจและความมั่งคั่ง หลังจากหนึ่งปีที่ถูกปิดล้อม ในเดือนเมษายน พ.ศ.2310 กองกำลังทหารพม่าก็ตีผ่านเข้ากำแพงเมืองอยุธยา เข้ามาทำลายปราสาท และตัวเมืองได้สำเร็จ พม่าทำลายราชวัง เจดีย์ วัดวาอาราม รูปปั้นต่างๆ และชาวเมืองอยุธยาต่างพากันหนีกระจัดกระจายกันไปสู่ชนบท และอาณาจักรอยุธยาก็ได้ถึงวาระแห่งการสิ้นสุดลงโดยฉะนั้น

Keine Kommentare: